โคลงโลกนิติ
โคลงโลกนิติ เป็นวรรณกรรมประเภทคำสอน ในลักษณะของโคลงสุภาษิต คำว่า โลกนิติ (อ่านว่า โลก-กะ-นิด) แปลว่า ระเบียบแบบแผนแห่งโลก
เนื้อหาในโคลงโลกนิติจึงมุ่งแสดงความจริงของโลกและสัจธรรมของชีวิต เพื่อให้ผู้อ่านได้รู้เท่าทันต่อโลก และเข้าใจในความเป็นไปของชีวิต พร้อมเป็นแม่แบบเพื่อให้ผู้อ่านได้ดำเนินชีวิตไปในทางที่ถูกต้องดีงามสืบไป
โคลงโลกนิติมีความไพเราะเหมาะสมทั้งด้านรูปแบบและเนื้อหาปรัชญาสาระ ครบคุณค่าทางวรรณกรรม ทำให้เป็นที่แพร่หลายในหมู่คนทั่วไป บางท่านกล่าวยกย่องโคลงโลกนิติว่าเป็น อมตะวรรณกรรมคำสอน หรือ ยอดสุภาษิตอมตะ[1], ได้รับคัดเลือกจากกระทรวงศึกษาธิการให้เป็นบทอ่านในหนังสือแบบเรียนสำหรับนักเรียนนักศึกษาอยู่ทุกยุคสมัย และได้รับการจัดให้
ประวัติ
- สำนวนเก่า
โคลงโลกนิติเชื่อกันว่ามีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา โดยนักปราชญ์ในสมัยนั้นได้คัดเลือกหาคาถาสุภาษิตภาษาบาลีและภาษาสันสกฤตที่ปรากฏในคัมภีร์ต่างๆ เช่น คัมภีร์โลกนิติ, คัมภีร์ธรรมนีติ, คัมภีร์ราชนีติ, หิโตปเทศ, ธรรมบท และ พระไตรปิฎก เป็นต้น มาถอดความแล้วเรียบเรียงแต่งเป็นโคลงโลกนิติ
- ศิลาจารึกวัดพระเชตุพนฯ
ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์ฯ) ในปี พ.ศ. 2374 ก็มีดำริให้จารึกวิชาการสาขาต่างๆ ไว้บนแผ่นศิลาที่ประดับไว้ตามเสาหรือกำแพงพระวิหาร ในการนี้จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอกรมขุนเดชอดิศร (ต่อมาได้ดำรงพระยศเป็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร) ทรงชำระโคลงโลกนิติของเก่าให้ประณีตไพเราะยิ่งขึ้น เพื่อจารึกไว้ในคราวเดียวกัน
จำนวนโคลงโลกนิติที่ปรากฏต้นฉบับในสมุดไทยมีทั้งสิ้น 408 บท แต่ที่จารึกไว้ในวัดพระเชตุพนฯ แผ่นละบท มี 435 แผ่น (รวมโคลงนำ 2 บท) คาดว่ามีโคลงที่แต่งเพิ่มเติมเพื่อให้พอดีกับพื้นที่จารึก
- สำนวนอื่น
- ปี พ.ศ. 2385 โลกนิติคำฉันท์ แต่งเป็นคำฉันท์โดย ขุนสุวรรณสารวัด
- ปี พ.ศ. 2428 โลกนิติคำโคลง อีกสำนวน เข้าใจว่าแต่งโดย พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)
- ฉบับชำระ ภายหลังมีการรวบรวม สอบทาน และจัดพิมพ์เผยแพร่โคลงโลกนิติ ดังนี้
- หนังสือสอนอ่านฯ สุภาสิตโลกนิติ์คำโคลง รวบรวม สอบทาน และจัดพิมพ์โดยกรมศึกษาธิการ กระทรวงธรรมการ เมื่อปี พ.ศ. 2447 เพื่อใช้เป็นหนังสือแบบเรียนสำหรับนักเรียน โดยนำโคลงที่สมเด็จฯ กรมพระยาเดชาดิศร ทรงชำระไว้ 408 บท ที่ปรากฏในต้นฉบับสมุดไทย (รวมโคลงนำ 2 บท โคลงส่งท้าย 2 บท และโคลงที่ซ้ำกันอยู่ 5 บท) มาพิมพ์ร่วมกับโคลงอีก 30 บท ที่พบในแผ่นศิลาวัดพระเชตุพนฯ
- ประชุมโคลงโลกนิติ ฉบับหอสมุดแห่งชาติ หอสมุดแห่งชาติจัดพิมพ์โคลงโลกนิติที่เป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาเดชาดิศร ร่วมกับโคลงโลกนิติสำนวนเก่าที่มีการค้นพบเป็นจำนวนมากจากหอพระสมุดวชิรญาณ พร้อมระบุคาถาอันเป็นที่มาของโคลง และจัดรวบรวมกันเป็นชุดๆ ได้โคลงภาษิตรวม 593 ชุด จำนวน 911 บท (ไม่รวมโคลงนำ 2 บท และโคลงส่งท้าย 2 บท) พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2460
- ประชุมโคลงโลกนิติ ฉบับกรมวิชาการ เป็นฉบับที่คณะกรรมการคัดสรรและเผยแพร่วรรณกรรมของชาติ กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ นำต้นฉบับ หนังสือสอนอ่านฯ สุภาสิตโลกนิติ์คำโคลง และ ประชุมโคลงโลกนิติ ฉบับหอสมุดแห่งชาติ มาสอบทาน แก้ไขอักขระ ตัดโคลงที่ซ้ำซ้อน เพิ่มเติมคาถา จัดทำคำอธิบายศัพท์ และจัดหมวดหมู่ใหม่ในโคลงบางชุด ทำให้ได้โคลงภาษิตรวม 594 ชุด จำนวน 902 บท (รวมโคลงนำ 2 บท และโคลงส่งท้าย 4 บท) พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2543
- ฉบับคัดลอก ที่น่าสนใจ เช่น
- กระทรวงศึกษาธิการ คัดโคลงบางบท บรรจุลงเป็นบทเรียนอ่านหนึ่งใน หนังสือแบบเรียน วิชาภาษาไทย ระดับมัธยมศึกษา
- โคลงโลกนิติ ฉบับถอดความ ถอดความโดย นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย อ้างจาก ศิลาจารึกวัดพระเชตุพนฯ ทั้ง 435 บท แต่ละบทประกอบด้วย บทโคลง, บทแปลคำศัพท์, บทถอดความ
เป็นหนึ่งในหนังสือดี 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน
รูปแบบของหนังสือประชุมโคลงโลกนิติ[แก้]
หนังสือประชุมโคลงโลกนิติ[2] ขึ้นต้นด้วยโคลงนำ 2 บท คือ
๏ อัญขยมบรมนเรศเรื้อง | รามวงศ์ |
พระผ่านแผ่นไผททรง | สืบไท้ |
แสวงยิ่งสิ่งสดับองค์ | โอวาท |
หวังประชาชนให้ | อ่านแจ้งคำโคลง |
๏ ครรโลงโลกนิตินี้ | นมนาน |
มีแต่โบราณกาล | เก่าพร้อง |
เป็นสุภสิตสาร | สอนจิต |
กลดั่งสร้อยสอดคล้อง | เวี่ยไว้ในกรรณ |
จากนั้น จะแยกโคลงออกเป็นชุดๆ แต่ละชุดมีส่วนประกอบดังนี้
- ตัวเลขลำดับกำกับชุด
- คาถา โดยชุดที่มีคาถา จะเขียนคาถาไว้ที่ต้นบท พร้อมชื่อคัมภีร์อันเป็นที่มาของคาถานั้น
- ถ้าโคลงชุดนี้ไม่มีคาถา จะเขียนว่า ไม่พบคาถา
- อ้างอิงท้ายคาถา (ถ้ามีคาถา)
- แหล่งที่มา เช่น คัมภีร์โลกนิติ, คัมภีร์ธรรมนีติ, คัมภีร์ราชนีติ, หิโตปเทศ, ธรรมบท, พระไตรปิฎก
- ถ้าไม่พบที่มาของคัมภีร์ จะเขียนว่า ไม่ปรากฏที่มา
- ตัวโคลง
- อ้างอิงท้ายโคลง
- โคลงสำนวนเก่า จะเขียนว่า สำนวนเก่า
- โคลงพระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาเดชาดิศร (จารึกวัดพระเชตุพนฯ) จะเขียนว่า สมเด็จฯ กรมพระยาเดชาดิศร
- ตัวอย่าง
โคลงชุดที่ 170 เป็นดังนี้
170. | |
ปฐพฺยา มธุรา ติณี | อุจฺฉุ นารี สุภาสิตํ |
อุจฺฉุนารีสุ ตปฺปนฺติ | น ตปปติ สุภาสิตํ |
ไม่ปรากฏที่มา | |
๏ รสหวานในโลกนี้ | มีสาม |
หญิงรูปบริสุทธิ์งาม | อีกอ้อย |
สมเสพรสกลกาม | เยาวโยค |
หวานไป่ปานรสถ้อย | กล่าวเกลี้ยงไมตรี |
สำนวนเก่า | |
๏ หวานใดในโลกนี้ | มีสาม สิ่งนา |
หวานหนึ่งคือรสกาม | อีกอ้อย |
หวานอื่นหมื่นแสนทราม | สารพัด หวานเอย |
หวานไป่ปานรสถ้อย | กล่าวเกลี้ยงคำหวาน |
สมเด็จฯ กรมพระยาเดชาดิศร | |
หนังสืออื่นที่มีที่มาจากคัมภีร์โลกนิติ
นอกจากโคลงโลกนิติสำนวนเก่า และโคลงโลกนิติในพระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาเดชาดิศรแล้ว ยังมีหนังสืออีกหลายเล่มที่มีที่มาจาก คัมภีร์โลกนิติ (กล่าวคือ มีที่มาเดียวกับโคลงโลกนิติ ไม่ใช่แต่งไปจากโคลงโลกนิติ) ได้แก่
- โคลงโลกนิติ จากหนังสือวชิรญาณ เล่ม 2 จ.ศ. 1247
เป็นการรวบรวมคัมภีร์โลกนิติ ฉบับภาษาบาลี ซึ่งมี 7 กัณฑ์ โคลงโลกนิติ พระนิพนธ์ของสมเด็จฯ พระยาเดชาดิศร และโคลงโลกนิติ ที่เข้าใจว่าเป็นสำนวนของพระยาศรีสุนทรโวหาร(น้อย อาจารยางกูร) เข้ามารวมพิมพ์ไว้ในเล่มเดียวกัน
- โลกนิติไตรพากย์ หรือ โลกนิติคารม
ประพันธ์และเรียบเรียงโดยพระสารประเสริฐ (ตรี นาคะประทีป) โดยจัดทำเป็น 3 ภาษา คือ ภาษาบาลี ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ จำแนกเนื้อหาออกเป็น 7 กัณฑ์ ตามคัมภีร์โลกนิติ รวมมีทั้งสิ้น 167 คาถา พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2461
ถอดคำประพันธ์ของคัมภีร์โลกนิติทั้ง 7 กัณฑ์ ออกเป็นร้อยแก้วภาษาไทย โดย แสง มนวิทูร มีทั้งสิ้น 158 คาถา
- โลกนิติ - สุตวัฑฒนนีติ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน
ราชบัณฑิตยสถานได้ชำระและแปลคัมภีร์โลกนิติและคัมภีร์สุตวัฑฒนนีติ ออกเป็น 4 ภาษา คือ ภาษาบาลี ภาษาบาลีเขียนเป็นอักษรโรมัน ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ รวมมีทั้งสิ้น 167 คาถา พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2540
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น