ไกรทอง
ไกรทอง เป็นนิทานพื้นบ้านภาคกลางของไทย ที่มีตัวเอกชื่อ ไกรทอง เล่าไว้หลายสำนวนด้วยกัน ภายหลังในสมัยรัชกาลที่ 2 ได้ทรงพระราชนิพนธ์เป็นบทละครสำหรับละครนอก และได้รับความนิยม ยกย่องเป็นฉบับมาตรฐานฉบับหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องราวความรักเกี่ยวกับคนและจระเข้
เรื่องย่อ
กาลครั้งหนึ่ง มีถ้ำแก้ววิเศษเป็นที่อยู่ของจระเข้(ใต้) ในถ้ำมีลูกแก้ววิเศษที่ส่องแสงดุจเวลากลางวัน จระเข้ทุกตัวที่เข้ามาในถ้ำจะกลายเป็นมนุษย์ มีท้าวรำไพ เป็นจระเข้เฒ่าผู้ทรงศีล ไม่กินเนื้อมนุษย์และสัตว์ มีบุตรชื่อ ท้าวโคจร ซึ่งนิสัยแตกต่างจากพ่อโดยสิ้นเชิงท้าวโคจรมีบุตรชื่อ ชาละวัน วันหนึ่ง ท้าวโคจร เกิดทะเลาะวิวาทกับท้าวแสนตาและพญาพันวัง(เหนือ) ท้าวโคจรโกรธที่ท้าวแสนตาฆ่าลูกน้องของตนจึงเข้ามาขอท้าสู้ แต่ท้าวแสนตาก็ไม่อาจสู้กำลังของท้าวโคจรได้ พญาพันวังโมโหที่ท้าวโคจรฆ่าพี่ชายของตนจึงขึ้นมาสู้กับท้าวโคจร สุดท้ายทั้งสามก็จบชีวิตลงจากบาดแผลที่เกิดจากการสู้รบกัน
หลังจากนั้น พญาชาละวัน บุตรของท้าวโคจร ก็ได้ขึ้นเป็นผู้ปกครองถ้ำบาดาลโดยไม่มีใครกล้าท้าทายอำนาจ และได้จระเข้สาวสองตัวเป็นเมียคือ วิมาลา กับ เลื่อมลายวรรณ ด้วยความลุ่มหลงในอำนาจ ชาละวันจึงมีนิสัยดุร้ายต้องการกินเนื้อมนุษย์ และไม่รักษาศีลเหมือนท้าวรำไพผู้เป็นปู่แต่อย่างใด เพราะถือว่าตนเป็นผู้ปกครองถ้ำ มีอำนาจอยากจะทำอะไรก็ได้
ณ เมืองพิจิตร มีเหตุการณ์จระเข้อาละวาดออกมากินคนที่อยู่ใกล้คลอง วันหนึ่ง พี่น้องคู่หนึ่ง ชื่อนางตะเภาแก้ว ผู้พี่ และนางตะเภาทอง ผู้น้อง ทั้งสองเป็นธิดาของเศรษฐี อยากที่จะลงไปเล่นน้ำที่คลอง เศรษฐีห้ามแต่สองพี่น้องก็ยังรบเร้าที่จะไปโดยบอกว่ามีพี่เลี้ยงลงไปด้วย เศรษฐีจึงใจอ่อนยอมให้ตะเภาแก้วและตะเภาทองลงไปเล่นน้ำ ในเวลานั้น ชาละวัน ซึ่งกลายร่างเป็นจระเข้ยักษ์นิสัยอันธพาล ได้ออกจากถ้ำอาละวาดล่าหามนุษย์เป็นเหยื่อ สร้างความวุ่นวายไปทั่วเมือง และได้ว่ายน้ำผ่านมาเห็นตะเภาทองที่แม่น้ำแถวบ้านท่านเศรษฐี ก็เกิดความลุ่มหลงทันทีจึงคาบตะเภาทองแล้วดำดิ่งไปยังถ้ำทองด้วยความเหิมลำพอง
เมื่อนางตะเภาทองฟื้นขึ้นมา ก็ตกตะลึงในความสวยของถ้ำ และได้เห็นพญาชาละวัน ซึ่งกลายร่างเป็นชายรูปงาม ชาละวันเกี้ยวพาราสีแต่นางไม่สนใจ ชาละวันจึงใช้เวทมนตร์สะกดให้นางหลงรักและยอมเป็นภรรยา เมียของชาละวันคือ วิมาลา และเลื่อมลายวรรณ เห็นก็ไม่พอใจและหึงหวงแต่ก็ห้ามสามีไม่ได้
ท่านเศรษฐีเสียใจมาก จึงประกาศไปว่าใครที่พบศพนางตะเภาทอง และสามารถปราบจระเข้ตัวนี้ได้จะมอบสมบัติของตนเองให้ครึ่งหนึ่ง และจะให้แต่งงานกับนางตะเภาแก้ว แต่ไม่ว่าจะมีผู้มีอาคมอาคมมาปราบชาละวันกี่คน ก็จะตกเป็นเหยื่อให้ชาละวันเอาไปนั่งกินเล่นทุกราย และแล้วก็ได้ ไกรทอง หนุ่มรูปหล่อจากเมืองนนทบุรี ซึ่งได้ร่ำเรียนวิชาการปราบจระเข้จากอาจารย์คง จนมีความเก่งกล้า ฤทธิ์อาคมแกร่ง ได้รับอาสามาปราบชาละวัน
ก่อนพบเจอเหตุร้าย ชาละวันได้นอนฝันว่า มีไฟลุกไหม้และน้ำท่วมทะลักเข้าถ้ำ เกิดแผ่นดินไหวแปรปรวน ทันใดนั้น ได้ปรากฏร่างเทวดาฟันคอชาละวันขาดกระเด็น จึงได้นำความฝันไปบอกกล่าวกับปู่ท้าวรำไพ เพราะเหตุการณ์ในความฝันเป็นลางร้าย ชาละวันต้องจำศีลในถ้ำ 7 วัน ถ้าออกไปนอกถ้ำจะพบภัยพิบัติถึงชีวิต วิมาลาจึงรับสั่งให้บริวารจระเข้คาบก้อนหินมาปิดปากถ้ำเอาไว้ เพื่อไม่ให้มนุษย์เข้ามาในถ้ำ
รุ่งเช้าไกรทองเริ่มตั้งพิธีบวงสรวงพร้อมท่องคาถา ทำให้ชาละวันเกิดอาการร้อนรุ่ม วิมาลาได้แต่คอยปลอบใจให้ชาละวันอดทนเข้าไว้ แต่สุดท้ายชาละวันก็ต้องออกจากถ้ำ แปลงกายเป็นจระเข้ขึ้นมาบนผิวน้ำเพื่อต่อสู้กับไกรทอง การต่อสู้ของคนกับจระเข้จึงเริ่มขึ้นไกรทองกระโดดขึ้นบนหลังจระเข้ชาละวันอย่างรวดเร็วและแทงด้วยหอกสัตตโลหะ ทำให้อาคมของเขี้ยวเพชรเสื่อม หอกอาคมได้ทิ่มแทงชาละวันจนบาดเจ็บสาหัส และมันได้รีบหนีกลับไปที่ถ้ำทองทันที
แต่ไกรทองก็ใช้เทียนระเบิดน้ำเปิดทางน้ำ ตามลงไปที่ถ้ำทันที วิมาลาและเลื่อมลายวรรณต้องการของร้องให้ปู่ท้าวรำไพช่วย แต่ท้าวรำไพก็ไม่สามารถช่วยได้ เมื่อมาถึงถ้ำไกรทองได้พบกับ วิมาลา ด้วยความเจ้าชู้จึงเกี้ยวพาราสีจนนางใจอ่อนยอมเป็นชู้ จนนางตกใจวิ่งหนีเข้าถ้ำ ไกรทองจึงตามนางไป ส่วนชาละวันที่นอนบาดเจ็บอยู่ก็รีบออกมาจากที่ซ่อนตัวและได้ต่อสู้กับไกรทองต่อในถ้ำ จนชาละวันสู้ไม่ไหวในที่สุดก็พลาดเสียท่าถูกแทงจนสิ้นใจตายตรงนั้น (บางสำนวนก็บอกว่า ชาละวันถูกหอกอาคมของไกรทองแทงกลางหลัง แล้วร่างก็เปลี่ยนเป็นจระเข้ยักษ์นอนตายอยู่กลางถ้ำทอง) และไกรทองก็ได้พานางตะเภาทองกลับขึ้นมา เศรษฐีดีใจมากที่ลูกสาวยังไม่ตาย จึงจัดงานแต่งงานให้ไกรทองกับนางตะเภาแก้ว พร้อมมอบสมบัติให้ครึ่งหนึ่ง แถมนางตะเภาทองให้อีกคน
ใจของไกรทองกลับนึกถึงนางวิมาลา จึงไปหาอยู่กินด้วย โดยทำพิธีทำให้นางยังคงเป็นมนุษย์แม้ออกนอกถ้ำทอง นางตะเภาแก้วและนางตะเภาทอง จับได้ว่า สามีไปมาหาสู่ นางจระเข้จึงไปหาเรื่องกับนางในร่างมนุษย์จนนางวิมาลาทนไม่ไหวกลับ ร่างเป็นจระเข้และไกรทองต้องออกไปห้ามไม่ให้เมียตีกันและอำลาจากนางวิมาลาด้วยใจอาวรณ์ สุดท้ายไกรทองก็ปรับความเข้าใจได้กับทั้งสองฝ่าย ทั้งมนุษย์และจระเข้อยู่อย่างสันติ
ตำนานจระเข้ชาละวัน
ชาละวัน เป็นจระเข้ใหญ่เลื่องชื่อแห่งแม่น้ำน่านเก่าเมืองพิจิตร สันนิษฐานว่าเกิดขึ้นในสมัยที่พิจิตรมีเจ้าเมืองปกครอง ตามตำนานกล่าวว่า มีตายายสองสามีภรรยา ออกไปหาปลาพบไข่จระเข้ที่สระน้ำแห่งหนึ่ง จึงเก็บมาฟักเป็นตัวแล้วเลี้ยงไว้ในอ่างน้ำ เพราะยายอยากเลี้ยงไว้แทนลูก ต่อมาจระเข้ตัวใหญ่ขึ้นจึงนำไปเลี้ยงไว้ในสระใกล้บ้านหาปลามาให้เป็นประจำ ต่อมาตายายหาปลามาให้เป็นอาหารไม่พออิ่ม จระเข้ตัวนั้นจึงกินตายายเป็นอาหาร เมื่อขาดคนเลี้ยงดูให้อาหาร จระเข้ใหญ่จึงออกจากสระไปอาศัยอยู่ในแม่น้ำน่านเก่าซึ่งอยู่ห่างจากสระตายายประมาณ 500 เมตร
แม่น้ำน่านเก่าในสมัยนั้นยังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพันธุ์ปลานานาชนิดและมีน้ำบริบูรณ์ตลอดปี ขณะนั้นไหลผ่านบ้านวังกระดี่ทอง บ้านดงเศรษฐี ล่องไปทางใต้ ไหลผ่านบ้านดงชะพลู บ้านคะเชนทร์ บ้านเมืองพิจิตรเก่า บ้านท่าข่อย จนถึงบ้านบางคลาน จระเข้ใหญ่ก็เที่ยวออกอาละวาดอยู่ในแม่น้ำตั้งแต่ย่านเหนือเขตวังกระดี่ทอง ดงชะพลู จนถึงเมืองเก่า แต่ด้วยจระเข้ใหญ่ของตายายได้เคยลิ้มเนื้อมนุษย์แล้ว จึงเที่ยวอาละวาดกัดกินคนทั้งบนบกและในน้ำไม่มีเว้นแต่ละวัน จึงถูกขนานนามว่า "ไอ้ตาละวัน" ตามสำเนียงภาษาพูดของชาวบ้านที่เรียกตามความดุร้ายที่มันทำร้ายคน ไม่เว้นแต่ละวัน ต่อมาก็เรียกเพี้ยนเสียงเป็น "ไอ้ชาละวัน" และเขียนเป็น "ชาลวัน" ตามเนื้อเรื่องในพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
ชื่อของชาละวันแพร่สะพัดไปทั่วเพราะเจ้าชาละวันไปคาบเอาบุตรสาวคนหนึ่งของเศรษฐีเมืองพิจิตรขณะกำลังอาบน้ำอยู่ที่แพท่าน้ำหน้าบ้าน เศรษฐีจึงประกาศให้สินบนหลายสิบชั่ง พร้อมทั้งยกลูกสาวที่มีอยู่อีกคนหนึ่งให้แก่ผู้ที่ฆ่าชาละวันได้ ไกรทอง พ่อค้าจากเมืองล่าง สันนิษฐานว่าจากเมืองนนทบุรี รับอาสาปราบจระเข้ใหญ่ด้วยหอกลงอาคมหมอจระเข้ ถ้ำชาละวันสันนิษฐานว่าอยู่กลางแม่น้ำน่านเก่า ปัจจุบันอยู่ห่างจากที่พักสงฆ์ถ้ำชาละวัน บ้านวังกระดี่ทอง ตำบลย่านยาว ไปทางใต้ประมาณ 300 เมตร ทางลงปากถ้ำเป็นโพรงลึกเป็นรูปวงกลมมีขนาดพอดี จระเข้ขนาดใหญ่มากเข้าได้อย่างสบาย คนรุ่นเก่าได้เล่าถึงความใหญ่โตของชาละวันว่า เวลามันอวดศักดาลอยตัวปริ่มน้ำขวางคลอง ลำตัวของมันจะยาวคับคลอง กล่าวคือ หากหัวอยู่ฝั่งนี้ หางจะอยู่อีกฝั่ง เรื่องชาละวันเป็นเรื่องที่เลื่องลือมาก จนพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้ทรงพระราชนิพนธ์บทละครนอกเรื่อง "ไกรทอง" และให้นามจระเข้ใหญ่ว่า "พญาชาลวัน"
เรื่องเล่านายไกรทอง ชาวเมืองนนทบุรี
ส่วนนายไกรทองหมอปราบจระเข้ สันนิษฐานตามหลักฐานว่า เป็นบุคคลที่มาจากเมืองนนทบุรี ประกอบอาชีพค้าขายทางน้ำ และเคยรับอาสาปราบจระเข้ยักษ์ที่คร่าคนในพิจิตร และภายหลังชาวเมืองนนทบุรีได้ทราบข่าวการสร้างวีรกรรมปราบจระเข้ที่เมืองพิจิตร และได้สร้างศาสนสถานขึ้นคือ วัดบางไกรใน เพื่อเป็นเกียรติแก่ความหาญกล้าของไกรทอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น